IP Thailand
 

ทรัพย์สินทางปัญญา

กฎหมายจัดระเบียบการเก็บค่าลิขสิทธิ์ : ใครได้ ใครเสีย

ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีการพูดกันมากเรื่องร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ โดยมีค่ายเพลง ครูเพลง  ศิลปิน กลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้าน ขณะที่ครูเพลง และผู้ใช้งานคาราโอเกะอีกกลุ่มหนึ่งก็ออกมาสนับสนุน ทำให้เกิดความสับสน แต่ที่เป็นปัญหา คือ ได้มีผู้บริหารของบริษัทจัดเก็บบางรายที่เป็นนักกฎหมายและเป็นกรรมาธิการนั่งพิจารณาร่างกฎหมายนี้อยู่ด้วย ออกมาให้สัมภาษณ์โดยจงใจบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดในหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายนี้  ในทำนองว่าหน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้จัดตั้ง “องค์กรกลาง” เองและมีเพียงองค์กรเดียว เพื่อรวบอำนาจและผูกขาดการจัดเก็บลิขสิทธิ์ทั่วประเทศ  โดยภาครัฐจะเข้าไป “ควบคุมราคา” อัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ รวมทั้งจะลดอัตราโทษการทำละเมิดลิขสิทธิ์ ให้เหลือโทษปรับอย่างเดียว  ซึ่งจะทำให้การปราบปรามซีดีเถื่อนไม่ได้ผล
          ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และโฆษกคณะกรรมา   ธิการวิสามัญของ สนช. ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้  ใคร่ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน  ดังนี้
          1.  เหตุผลที่ต้องเสนอร่างกฎหมาย เพราะมีการร้องเรียนมากกว่า 100 ราย ทั้งที่ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี  ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยผู้ใช้งานเพลง เช่น ร้านคาราโอเกะ ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมฯ กล่าวหาว่า การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไม่มีความเป็นธรรม เอาเปรียบ มีการจัดเก็บซ้ำซ้อน  จับกุมและข่มขู่เรียกค่ายอมความ และยังมีบุคคลที่เรียกกันว่า “นักบิน” กว้านซื้อใบมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิแล้วไปข่มขู่เรียกเงินเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี ครั้งละ 20,000 บาท – 50,000 บาท รวมทั้ง ครูเพลงจำนวนมากที่เป็นสมาชิกของบริษัท จัดเก็บบางรายร้องเรียนว่า บริษัทจัดเก็บเอาเปรียบ ไม่จัดสรรค่าลิขสิทธิ์ให้ หรือให้น้อย ไม่มีกำหนดเวลา แน่นอน นอกจากนั้น บริษัทจัดเก็บเองที่มีอยู่มากกว่า 10 รายขณะนี้ ก็ร้องเรียนว่ามี “มาเฟียคาราโอเกะ” ใช้อิทธิพลให้ความคุ้มครองเจ้าของตู้คาราโอเกะที่ผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้
          ประกอบกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอแนะต่อรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย  โดยให้สร้างระบบและจัดระเบียบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้มีความเป็นธรรม  และปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ของการกระทำผิดด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ สมาคมที่เกี่ยวข้องกับวงการเพลง ที่เข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ ดังนั้น จึงได้มีการพิจารณาและเสนอกฎหมายนี้
          2.  ร่างกฎหมายนี้จัดให้มีการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายหลายครั้ง และมีตัวแทนบริษัทจัดเก็บ  ค่ายเพลง ครูเพลง ผู้ใช้งาน เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง ร่างนี้ได้เสนอตั้งแต่ปี 2548 ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาอย่างรอบคอบมากกว่า 30 ครั้ง นอกจากนั้นนายกงกฤช  หิรัญกิจ สมาชิก สนช. กับคณะ ได้เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการและสาระสำคัญสอดคล้องกันอีกฉบับหนึ่ง รวมทั้ง  นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ สมาชิก สนช. กับคณะ ก็ได้เสนอร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าไม่ได้กระทำเพื่อการค้า เช่น การดัดแปลงหนังสือธรรมดาให้เป็นหนังสืออักษรเบลล์หรือหนังสือเสียง เป็นต้น

ที่มา = http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_content&task=view&id=260&Itemid=227

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์

รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ สนช

 

Home